สถานะทางควอนตัมในสมอง
by admin · Published · Updated

เมื่อ 20 กว่าปีก่อน ช่วงราว ๆ กลางทศวรรษ 1990 นักฟิสิกส์ชื่อดัง ศาสตราจารย์โรเจอร์ เพนโรส (Professor Roger Penrose, Mathematical Institute and Wadham College, The University of Oxford, Nobel Prize in Physics 2020) ได้เสนอจุดเริ่มต้นของคำอธิบายเกี่ยวกับการทำงานของสมองมนุษย์ ซึ่งประกอบไปด้วยประสบการณ์ของ จิตรู้สำนึก (Consciousness) องค์ประกอบในทฤษฎีของเขาเกี่ยวข้องกับการดำรงอยู่ของสถานะทางควอนตัมที่ทนต่อการถูกทำลายในโครงสร้างของเซลล์ประสาทสมอง
เขานำเสนอทฤษฎีที่เรียกว่า Orchestrated Objective Reduction (Orch OR) ซึ่งทำให้เกิดข้อโต้แย้งและถูกโจมตีอย่างหนักในเวลานั้น แม้ว่าเพนโรสจะเป็นที่นับถือในแวดวงวิทยาศาสตร์ก็ตาม เพราะทฤษฎีของเขาเป็นเรื่องที่ใหม่และยอมรับได้ยาก
และเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ในปี ค.ศ.2014 เพนโรสและฮาเมรอฟฟ์ได้นำเสนอการทบทวนและอัปเดตทฤษฎีจิตรู้สำนึกดังกล่าว ที่เป็นที่ถกเถียงกันมาตลอด 20 กว่าปี โดยตีพิมพ์ในวารสาร Physics of Life Reviews มีประเด็นสำคัญอยู่ว่า จิตรู้สำนึก (Consciousness) เกิดขึ้นจากกิจกรรมระดับลึกที่ละเอียดกว่าภายในเซลล์ประสาทสมอง การค้นพบล่าสุดของการสั่นสะเทือนทางควอนตัมภายใน ไมโครทิวบูล (microtubules) ในเซลล์ประสาทสมองยืนยันความถูกต้องของทฤษฎีนี้
“เอกสารฉบับใหม่ของเราอัปเดตหลักฐานและชี้แจง ทฤษฎี Orch OR ว่ามีกลไกการทำงานทางควอนตัมเป็นแบบ ควอนตัมบิต หรือคิวบิต ซึ่งเป็นทางเดินแบบขดลวดในโครงข่ายของไมโครทิวบูล มันลบข้อโต้แย้งของนักวิจารณ์ และในบทรีวิวนี้มี 20 รายการที่สามารถทดสอบได้ตามคำทำนายของ Orch OR ที่เผยแพร่ในปี ค.ศ.1998 ในจำนวนนี้มีการยืนยัน 6 รายการ ที่ไม่มีข้อโต้แย้งใด ๆ จากนักวิจารณ์”
โรเจอร์ เพนโรส และสจ๊วต ฮาเมรอฟฟ์
บางส่วนจากหนังสือ “จักรวาลควอนตัม”