นิยามการรับรู้
by admin · Published · Updated

ถ้าต้นไม้โค่นลงในป่าและไม่มีใครได้ยิน จะมีเสียงหรือไม่ ? คำถามยอดฮิตและกระตุ้นความสนใจคำถามนี้ เป็นปรัชญาทดลองทางความคิดที่ก่อให้เกิดการตั้งคำถามต่อการสังเกตและการรับรู้ของเรา
มีการเข้าใจผิดว่าต้นตอของคำถามมาจากเบิร์กเลย์ แต่จากหลักฐานในงานเขียนของเขาก็ไม่มีข้อความใดที่พูดถึงคำถามเหล่านี้ ข้อความที่ใกล้เคียงที่สุดปรากฏอยู่สองตอนในหนังสือของเขา A Treatise Concerning the Principles of Human Knowledge (1710) ดังนี้
“ไม่มีอะไรง่ายไปกว่าการที่ฉันจะจินตนาการถึงต้นไม้ในสวนสาธารณะ หรือหนังสือที่วางอยู่ในตู้และไม่มีใครรับรู้ได้”
“วัตถุแห่งความรู้สึกมีอยู่ก็ต่อเมื่อมีการรับรู้ ต้นไม้จึงอยู่ในสวนไม่นานไปกว่าในขณะที่มีใครรับรู้”
แม้ข้อความเหล่านี้จะมีความคล้ายคลึงกับคำถาม ดังกล่าว แต่เบิร์กเลย์ก็ไม่เคยเสนอคำถามด้วยตัวเอง อย่างไรก็ตามงานของเขาได้ให้คำตอบไว้แล้วสำหรับคำถามที่ว่า วัตถุสามารถดำรงอยู่ต่อไปได้อย่างไรเมื่อไม่มีใครรับรู้ ?
แท้จริงแล้วคำถามที่ใกล้เคียงที่สุดมาจากหนังสือ “Physics” by Charles Riborg Mann and George Ransom Twiss (1910) โดยถามไว้ว่า “เมื่อต้นไม้ล้มในป่าที่เงียบเหงา และไม่มีสัตว์อยู่ใกล้เคียง เราจะได้ยินมันส่งเสียงหรือไม่ เพราะเหตุใด ?” ซึ่งถูกตั้งไว้พร้อมกับคำถามอื่น ๆ อีกมากมาย
คำตอบสำหรับคำถามนี้ขึ้นอยู่กับว่าเราจะตีความคำว่า “เสียง” อย่างไร ถ้าตีความว่าเสียงคือปรากฏการณ์ทางกายภาพ คือคลื่นความถี่ชนิดหนึ่งที่เกิดจากการบีบอัดของอากาศโดยการรบกวนทางกายภาพอันเกิดจากการโค่นลงของต้นไม้ เสียงก็จะมีอยู่ในฐานะที่เป็นสิ่งทางกายภาพสิ่งหนึ่งหรือพลังงานรูปแบบหนึ่ง
แต่ถ้าตีความว่าเสียงคือปรากฏการณ์การรับรู้ของจิต ถ้าไม่มีคนอยู่แถวนั้น ไม่มีใครรับรู้ ไม่เกิดกระบวนการที่คลื่นเสียงจะเข้ามากระทบหูแล้วส่งสัญญาณประสาทไปยังสมอง เกิดการรับรู้ขึ้นเป็นปรากฏการณ์ของจิตใจ เสียงก็ไม่มีอยู่
คำถามจุดประกายความคิดเหล่านี้อธิบายถึงการตีความการสังเกตและการรับรู้ที่แตกต่างกัน ซึ่งทำให้ไอน์สไตน์กับบอร์ตีกันอย่างไม่รู้จักหยุดหย่อนดังตัวอย่างที่ผ่านมา
บางส่วนจากหนังสือ “จักรวาลควอนตัม”